เกี่ยวกับคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี
ประวัติคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี

คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีได้จัดตั้งจากภาควิชาเทคโนโลยีทางสัตว์ สังกัดคณะผลิตกรรม- การเกษตร เป็นหน่วยงานซึ่งสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ประกาศจัดตั้งเป็นคณะฯ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2551 ตั้งอยู่เลขที่ 252 หมู่ 8 ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่ทั้งหมด 400 ไร่ เริ่มเปิดสอนครั้งแรกในระดับปริญญาตรี เมื่อปี พ.ศ. 2518 ปัจจุบันมีการเรียน การสอนทั้งระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา ความเป็นมาตามลำดับดังนี้ >>

พ.ศ. 2518 เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี (เทคโนโลยีการเกษตรบัณฑิต สาขาวิชาสัตว์ปีก)

 พ.ศ. 2523 เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี (เทคโนโลยีการเกษตรบัณฑิต สาขาวิชาโคนม)

พ.ศ. 2526 เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี (เทคโนโลยีการเกษตรบัณฑิต สาขาวิชาโคเนื้อ)

พ.ศ. 2527 เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี (เทคโนโลยีการเกษตรบัณฑิต สาขาวิชาการผลิตสุกร)

พ.ศ. 2534 เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตร (4 ปี) หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสัตวศาสตร์(โคนมและโคเนื้อ) สาขาวิชาสัตวศาสตร์ (สัตว์ปีก) และสาขาวิชาสัตวศาสตร์ (การผลิตสุกร)

พ.ศ. 2538 เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอาหารสัตว์

พ.ศ. 2541 เปิดสอนระดับปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการผลิตสัตว์

 พ.ศ. 2548 ปรับปรุงหลักสูตรระดับปริญญาตรีเป็น หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสัตวศาสตร์ ประกอบด้วย 4 สาขาวิชาเอกคือ สัตว์ปีก โคนมและโคเนื้อ การผลิตสุกร และอาหารสัตว์ พร้อมทั้งปรับปรุงหลักสูตรระดับปริญญาโท เป็นหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา สัตวศาสตร์

พ.ศ. 2552 สภามหาวิทยาลัยเห็นชอบการเปิดหลักสูตรใหม่ ระดับปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตร มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารจัดการอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์

พ.ศ. 2552 สภามหาวิทยาลัยเห็นชอบการเปิดหลักสูตรใหม่ ระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสัตวศาสตร์

ปรัชญา

“พัฒนาองค์ความรู้ เพื่อผลิตนักสัตวศาสตร์ ที่มีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต

มีคุณธรรมและจริยธรรม”

วิสัยทัศน์

“เป็นคณะที่มีความเป็นเลิศทางด้านสัตวศาสตร์ในระดับชาติ”

อัตลักษณ์ของนักศึกษา

" สามัคคี สู้งาน ชำนาญทักษะ มีภาวะผู้นำ ยึดมั่นคุณธรรม ล้ำเลิศวิชาการ "
พันธกิจ

1. พัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นให้มีการปฏิบัติในห้องปฏิบัติการ ในฟาร์มของคณะฯ ควบคู่กับการสอนภาคทฤษฎี เพื่อการผลิตบัณฑิตที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถในวิชาการและวิชาชีพทางด้านสัตวศาสตร์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงพัฒนาทางด้านการผลิตสัตว์

2. บูรณาการวิจัยด้านสัตวศาสตร์ เพื่อประโยชน์ต่อการเรียนการสอน และบริการวิชาการ พัฒนาให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติ และนานาชาติ

3. ให้บริการวิชาการและความร่วมมือด้านการผลิตสัตว์แก่ชุมชน องค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งระดับชาติ และนานาชาติ

4. ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยผ่านกิจกรรมนักศึกษาในโครงการต่างๆ เช่น ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม จะมุ่งเน้นให้นักศึกษาที่มาจากภูมิลำเนาต่างๆทั่วประเทศทำกิจกรรมร่วมกันและร่วมกับบุคลากรเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นลานนาร่วมกัน ด้านการ อนุรักษ์พันธุ์สัตว์พื้นเมือง โดยผ่านกิจกรรมการอนุรักษ์และการประกวดสัตว์ ด้านสิ่งแวดล้อมผ่านกิจกรรมโครงการ Smart farm

5. สร้างและพัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายของงานและ การประเมินผลการปฏิบัติงานโดยคณะกรรมการพิจารณาผลการปฏิบัติงาน

6. พัฒนางานฟาร์มปศุสัตว์ให้ได้มาตรฐานเพื่อขอรับรองระบบมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ มาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์ และพัฒนาการแปรรูปผลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อ เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน การวิจัย บริการวิชาการ และก่อเกิดรายได้

นโยบายคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี

ด้าน 1. ด้านการผลิตบัณฑิต 1.1 การจัดการเรียนการสอน

1. ผลิตบัณฑิตให้มีคุณลักษณะตามอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้และพึงประสงค์ตามตลาดแรงงาน

2. พัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร รายวิชาและเนื้อหา ให้มีความทันสมัยและทันต่อการเปลี่ยนแปลง

3. พัฒนาประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนให้ดีขึ้น

4. ส่งเสริมศักยภาพของคณาจารย์ โดยการเพิ่มคุณวุฒิหรือการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ

5. กำหนดมาตรการในการเพิ่มจำนวนนักศึกษาในการศึกษาต่อทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา

6. พัฒนาห้องสมุดให้ทันสมัยและน่าสนใจสำหรับผู้ใช้บริการ

1.2 กิจกรรมพัฒนานักศึกษา 1. พัฒนานักศึกษา ให้บรรลุผลการเรียนรู้ 5 ด้าน ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา

2. จัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะสำหรับนักศึกษา

3. ส่งเสริมและสนับสนุนความเป็นเลิศทางทักษะทางด้านสัตวศาสตร์

4. สร้างจิตอาสา โดยจัดกิจกรรมอาสาพัฒนาของนักศึกษาเพื่อบริการชุมชนเป้าหมาย

1.3 การสร้างเครือข่าย 1. เชื่อมสัมพันธ์เครือข่ายการเรียนการสอนด้านสัตวศาสตร์ทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ เช่น - โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาเพื่อฝึกงานในต่างประเทศ - ภาคีเครือข่ายสัตวศาสตร์แห่งประเทศไทย - เครือข่ายสัตวศาสตร์ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANAS)

2. พัฒนาเครือข่ายศิษย์เก่าสัมพันธ์ ผ่านทางชมรมศิษย์เก่าสัตวศาสตร์ และช่องทางอื่นๆ รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลศิษย์เก่า

ด้าน 2. ด้านการวิจัย 2.1 การดำเนินการด้านการวิจัย

1. มุ่งเน้นงานวิจัย 3 ประเด็นหลักคือไก่พื้นเมือง โคเนื้อ และสิ่งแวดล้อมในฟาร์ม โดยให้มีความสอดคล้องกับ Roadmap 15 ปี ของมหาวิทยาลัย คือ การผลิตอาหารปลอดภัยด้วยวิธีสะอาด โดยคำนึงถึงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม (organic/ green/ eco university)

2. พัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่

3. ส่งเสริมและสนับสนุนให้คณาจารย์จัดทำข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอเงินอุดหนุนวิจัยจากแหล่งทุนภายนอก

4. ส่งเสริมการทำวิจัยสถาบันของบุคลากรสายสนับสนุนวิชาการ

5. สนับสนุนการเผยแพร่ผลงานวิชาการในวารสาร/ ที่ประชุมระดับชาติและระดับนานาชาติ

6. สร้างทีมวิจัยและห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง เพื่อวิจัยในเชิงลึก และประยุกต์ใช้ในชุมชนเป้าหมาย

7. แสวงหาแหล่งทุน เพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการ

ด้าน 3. ด้านบริการวิชาการ 3.1 การดำเนินการด้านบริการวิชาการ

1. กำหนดชุมชนเป้าหมายสำหรับการให้บริการทางวิชาการสู่สังคม

2. พัฒนาศูนย์เรียนรู้ทางด้านสัตวศาสตร์แบบครบวงจร

3. พัฒนาฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงงานแปรรูปและห้องปฏิบัติการให้ได้มาตรฐานและเป็นแหล่งเรียนรู้

4. สนับสนุนและสนองงานในโครงการพระราชดำริ

5. พัฒนาคลินิกดูแลและรักษาสัตว์

ด้าน 4. ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและรักษาสิ่งแวดล้อม 4.1 การดำเนินการด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและรักษาสิ่งแวดล้อม

1. ส่งเสริมบุคลากรและนักศึกษาในการร่วมกิจกรรมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม

2. รณรงค์การรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

3. รณรงค์ปลูกจิตสำนึกและความร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติตนเองและต่อสังคม โดยคำนึงถึงระบบนิเวศวิทยา

4. กำกับ ดูแล การบำบัดและการจัดการของเสียจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์และโรงงานแปรรูป รณรงค์เรื่องการอนุรักษ์พลังงาน

ด้าน 5. ด้านบริหารจัดการ 5.1 การดำเนินการด้านบริหารจัดการ

1. วางแผนเชิงยุทธศาสตร์อย่างมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาคณะฯ มีชื่อเสียงระดับชาติและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัย เช่น จัดทำแผนพัฒนาคณะทั้งระยะสั้น และ ระยะยาว แผนพัฒนาบุคลากร ระยะ 4 ปี ผังกายภาพเพื่อรองรับการเป็น Eco University ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้

2. บริหารด้วยระบบการทำงานเป็นทีม โดยหลักธรรมาภิบาล เพื่อพัฒนาองค์กรทั้งระบบ และก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยมุ่งสร้างนักบริหารรุ่นใหม่

3. บริหารจัดการตามวงจรคุณภาพ (PDCA) ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล

4. บริหารจัดการเชิงบูรณาการ ภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากรบุคคลและงบประมาณ

5. สร้างสรรค์วัฒนธรรมองค์กรที่ดี ก่อให้เกิดความสามัคคี

6. สร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานของบุคลากรในคณะ ทั้งลูกจ้าง คนงานประจำ บุคลากรและคณาจารย์

7. เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

8. วางแผนกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาและระดมทรัพยากรต่างๆ ของคณะ ในการพัฒนาวิสาหกิจและแสวงหารายได้